
สวนนกไทยศึกษา
สวนนกไทยศึกษา ตั้งอยู่ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในซอยเล็ก ๆ ตรงกันข้ามกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี และติดกับ โรงหล่อพระบูรณะไทย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 50 บาท เด็กคนละ 20 บาท

สวนนกไทยศึกษา แห่งนี้ เป็นแหล่งอนุรักษ์เรียนรู้นกที่พบในเมืองไทย ซึ่งบางชนิดหายากใกล้จะสูญพันธุ์ และบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว อาทิเช่น นกเปล้าหน้าแดง ที่มีความสะดุดตา นกเงือกชนหินหน้าตาคล้ายสัตว์ดึกดำบรรพ์ คอเปลือย ไม่มีขน ผมบนหัวทรงพั้งค์ และเป็นตัวเดียวในประเทศไทย รวมทั้งทางสวนนกไทยศึกษาได้รวบรวมนกในวรรณคดีไทย อาทิเช่น
นกแซงแซวหางปลา เป็นนกแซงแซวชนิดเดียวที่ชอบเกาะอยู่ ตามกิ่งไม้ที่โล่งแจ้ง ตามท้องทุ่ง ริมน้ำ สามารถร้องเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้ ไม่ชอบลงมาตามพื้นดิน กินอาหารโดยบินออกจากที่เกาะโฉบจิกแมลงที่กำลังบิน มักหากินเพียงตัวเดียว หรืออยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ บางครั้งออกหากินฝูงเล็กๆ 3-6 ตัว
นกแก๊ก เป็นนกเงือกที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ตัวผู้ มีจงอยปากและโหนกสีขาว งาช้างและ มีสีดำแต้มด้านหน้าของโหนก ส่วนตัวเมีย มีโหนกเล็กกว่า มีสีดำแต้มเปรอะทั้งโหนกและปากจนดูมอมแมม นกแก๊กตัวที่ยังโตไม่เต็มวัยจะดูคล้ายตัวเต็มวัย แต่มีโหนกเล็กกว่า สีบริเวณปากจะค่อย ๆ ปรากฏชัด เมื่อนกมีอายุมากขึ้น
นกสาลิกาเขียว เป็นนกชนิดหนึ่งในวงศ์นกกา มีปากหนาสีแดงสด วงรอบตาสีแดง มีแถบสีดำคาดเหมือนหน้ากาก บริเวณกระหม่อมสีเขียวอมเหลือง ลำตัวด้านบนสีเขียวสด ใต้ท้องสีเขียวอ่อน ช่วงปีกตรงหัวไหล่เป็นสีเขียว ปลายปีกเป็นสีแดงเข้ม และตอนในของขนกลางปีกมีแถบสีดำสลับขาว ขาสีแดงสด ใต้หางมีสีดำสลับขาว ส่วนปลายหางจะเป็นสีขาว ส่งเสียงร้องดัง กวีก..ก..กวีก..ก..ก..
นกเงือกหัวแรด เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย โดยตัวเมียมีขนาดลำตัวเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย มีโหนกบริเวณหูและตาซีดกว่าตัวผู้ นอกนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก ขนบนปีกและตัวของนกมีสีดำ ท้องและหางมีสีขาว มีแถบสีดำพาดตามขวางตรงใกล้ปลายหาง คล้ายกับนกกาฮัง โหนกบริเวณเหนือปากเป็นรูปโค้งขึ้นทางด้านบน ตรงโคนโหนกมีสีแดงบริเวณตอนหน้าของส่วนที่โค้งขึ้นทางด้านบนคล้ายนอก

นอกจากนี้ ยังมีนกสายพันธุ์อื่น ๆ ให้ได้ชมและศึกษาเรียนรู้อีกมากมาย อีกทั้งภายในบริเวณสวนนกไทยศึกษายังมีต้นไม้หลากหลายพันธุ์สร้างความร่มรื่นเพื่อให้นกได้อยู่อาศัยใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด
แผนที่สวนนกไทยศึกษา